6 กฎทองคำที่ต้องทำทันที หากต้องชนะการลงทุนในตลาดหุ้น
(6 Golden Rules for Beating Your Stock Investment)
โดย ณาศิส ประเสริฐสกุล, CISA (นายหมูบิน)
แน่นอนว่าเป้าหมายของการลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุนส่วนใหญ่คือการได้รับผลตอบแทนที่เป็นบวก และเพิ่มขึ้นตลอดเวลา อย่างน้อยก็ควรเอาชนะอัตราเงินเฟ้อให้ได้ จนนำไปสู่ความเชื่อผิดๆของนักลงทุนที่พยายามจะนำ “กลยุทธ์เชิงรุก” หรือ “Active Strategy” มาใช้ในการหาหุ้นที่คาดว่าจะวิ่งแรงวิ่งเร็ว (หุ้นซิ่ง หรือหุ้นนางฟ้าอะไรก็แล้วแต่) ตลอดเวลา แต่ปัญหาคือไม่ตลอดเวลา หรือเสมอไปที่ตลาดหุ้นจะใจดีให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่เป็นบวกกับเราทุกครั้งที่เราต้องการ โดยเฉพาะถ้าการตัดสินใจ หรือ Making Decision อยู่บนฐานของการไม่มีวินัยการลงทุน (Disciplined), ไม่มีเหตุมีผล (Rational) และไม่มีแผนการลงทุนที่ดี (Well-Thought-Out Plan) ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนจะขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้นเราโชคดี หรือโชคร้ายเท่านั้น
ดังนั้นสำหรับนักลงทุนไม่เฉพาะมือใหม่นะครับแต่ผมมองว่าทุกคน ควรจะมีการกำหนดเป้าหมายเบื้องต้นของการ “วางแผนการลงทุน” ว่าต้องสามารถหลีกเลี่ยง หรือป้องกันพอร์ตการลงทุนของเราจากการขาดทุนให้ได้ไว้ก่อน ซึ่งในทางปฎิบัติหากผลตอบแทนจากการลงทุนของเราสามารถชนะตลาด หรือ Outperform ตลาดหุ้นให้ได้ในทุกๆปี หรืออย่างน้อยๆเท่ากับตลาด หรือ Neutral ก็ยังดี ถ้าทำอย่างนี้ได้โอกาสที่เราจะขาดทุน หรือเสียหายจากตลาดหุ้นจะน้อยลงมาก เพราะในระยะยาวจากสถิติที่ผ่านมาของตลาดหุ้นโลก และไทยสะท้อนออกมาชัดเจนอยู่แล้ว ตลาดหุ้นเป็นตลาดสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในระยะยาว และแน่นอนว่ามันจะสามารถชนะอัตราเงินเฟ้อได้แน่นอนในระยะยาวเช่นกัน (ย้ำว่าระยะยาว)
ซึ่งสำหรับผม รูปแบบการลงทุนที่ “มีการวางแผนการลงทุนที่ดี” และ “มีวินัยกับมัน” รวมทั้งมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นคือการหลีกเลี่ยง หรือป้องกันพอร์ตการลงทุนของเราจากการขาดทุน ก็คือการกำหนดแผนการลงทุนในรูปแบบ “Rules-Based Investing” หรือ “การลงทุนแบบมีกฎเกณฑ์” โดยที่ในการวางแผนการลงทุนเบื้องต้นจะมีการกำหนด 6 กฏเกณฑ์การลงทุนที่สำคัญ และในบทความนี้ผมจะมาเล่าให้ได้ทราบในแต่ละกฏเกณฑ์เลยนะครับ
1. กฎในการเลือกหุ้น : หาหุ้นที่เหมาะสมกับตัวเอง (ไม่ใช่ซื้อตามคนอื่น)
(Stock Selection Rules : Find the Suitable Stocks for you)
ขั้นตอนแรกที่นักลงทุนหน้าใหม่ต้องทำ คือการศึกษาลักษณะของ “หุ้นที่ดี” และ “หุ้นที่แย่” เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดกฎเกณฑ์ในการเลือกหุ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผมมองว่านักลงทุนหน้าใหม่ ควรเน้นไปที่การศึกษา “การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน” หรือ “Fundamental Analysis” ก่อนเป็นลำดับแรกจะดีที่สุด เช่นการวิเคราะห์งบการเงิน และการประเมินมูลค่า เป็นต้น ซึ่งท่านสามารถศึกษาได้ด้วยตัวเองจากหนังสือที่มีอยู่มากมายตามร้านหนังสือ เนื่องจากหลักการในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานนั้น เป็นอะไรที่ตรงไปตรงมา และเป็นวิทยาศาสตร์มากๆ เพราะถ้าไปเริ่มจากอะไรที่ต้องใช้วิจารณญาน (Judgment) หรือประสบการณ์ (Experience) มากๆก่อน เช่นการวิเคราะห์เชิงเทคนิค (Technical) หรือเชิงปริมาณ (Qualitative) อาจเป็นเรื่องยากเกินไป จนนำไปสู่ปัญหา 2 อย่างคือนักลงทุนจะรู้สึกว่ายากจนไม่อยากลงทุนต่อ หรืออาจจะตรงกันข้ามเลย คือไม่ศึกษาแล้ว ลงทุนมันเลยดีกว่า โดยไม่สนใจที่จะศึกษาเพิ่มเติมอีก ซึ่งอันตรายมาก !!!!!
ทั้งนี้จุดหมายปลายทางในการศึกษา “การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน” คือการที่นักลงทุนหน้าใหม่สามารถเลือกหุ้นที่มีลักษณะ หรือ Set of Criteria เหมาะสมกับ “เป้าหมายในการลงทุน” หรือ “Investment Objective”ของเราได้ และเราต้องยึดมั่นในมัน โดยจะไม่มีการเปลี่ยน Criteria จนกว่าจะมีการเปลี่ยนเป้าหมายในการลงทุน ทั้งนี้หลักการทั่วไปที่ใช้กันนั้น มักจะมีการแบ่งหุ้นออกเป็นรูปแบบ หรือ Style เช่น “หุ้นในกลุ่มที่เน้นมูลค่า” หรือ “Value Stock”, “หุ้นในกลุ่มที่เน้นการเติบโต” หรือ “Growth Stock” และ“หุ้นในกลุ่มที่เป็นกลุ่มนำของตลาด” หรือ “Market-Oriented Stock” เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาในข้างต้น ก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป หรือในบางกรณีหุ้นที่เราต้องการอาจมีคุณสมบัติของทั้ง 3 Style รวมกันก็ได้
อย่างไรก็ดีประเด็นที่นักลงทุนทั้งหน้าใหม่ และหน้าเก่าเข้าใจผิดกันมากคือการกำหนด Set of Criteria ของหุ้นให้เหมาะสมกับ “เป้าหมายในการลงทุน” โดยที่ส่วนใหญ่เชื่อว่าถ้าเป็นนักลงทุนระยะยาวที่รับความเสี่ยงได้น้อยควรลงทุนใน “หุ้นในกลุ่มที่เน้นมูลค่า” หรือ “Value Stock” และถ้าเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากควรลงทุนใน “หุ้นในกลุ่มที่เน้นการเติบโต” หรือ “Growth Stock” ซึ่งแนวคิดแบบนี้ผิดมากในเชิงทฤษฏีการลงทุน เนื่องจากการศึกษาในเชิงประจักษ์ (Empirical Study) พบว่าความเสี่ยงของหุ้นในกลุ่ม “Value Stock” และ “Growth Stock” นั้นไม่ต่างกัน โดยที่หุ้นในกลุ่ม “Value Stock” ซึ่งคนอาจมองว่าราคาถูก และยังคงไม่สะท้อนมูลค่า ก็มีความเสี่ยงที่อาจจะมาจากการประเมินพื้นฐานดีเกินไป และราคาอาจสะท้อนมูลค่าไปแล้ว ขณะที่หุ้นในกลุ่ม “Growth Stock” ซึ่งคนอาจมองว่าผลการดำเนินงานยังคงมีโอกาสขยายตัวในระดับสูง ก็มีความเสี่ยงที่อาจจะประเมินอนาคตผิดพลาดได้เช่นกัน นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่สุดที่หลายคนมองข้ามคือทั้งการลงทุนในหุ้นกลุ่ม “Value Stock” และ “Growth Stock” นักลงทุนต่างคาดหวังผลตอบแทนในรูปของ “กำไรจากส่วนต่างราคา” หรือ “Capital Gain” เหมือนกัน
ดังนั้นผมมองว่าเราควรมากำหนด “เป้าหมายในการลงทุน” ใน “รูปแบบของผลตอบแทนที่ต้องการ” หรือ “Type of Expected Return” มากกว่า เช่นถ้าต้องการผลตอบแทนที่แน่นอนในรูปแบบของ “เงินปันผล” ก็เน้นไปที่หุ้น “Dividend Stock” ที่พื้นฐานดี หรือถ้าต้องการผลตอบแทนในรูปแบบของ “ส่วนต่างราคา” ก็เน้นไปที่หุ้น “High-Potential Upside Stock” ซึ่งอาจจะเป็นหุ้นในกลุ่ม “Value Stock” และ “Growth Stock” ก็ได้จะเหมาะสมกว่า
2. กฎในการบริหารพอร์ต : สร้างสมดุลของความเสี่ยง และควบคุมมันให้ได้
(Portfolio Management Rules : Balance Risk and Keep Your Holding Controllable)
ขั้นตอนต่อมาคือการกำหนด “กฎในการบริหารพอร์ต” ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วนที่ต้องพิจารณา ในส่วนแรกคือการสร้างสมดุลของความเสี่ยง โดยที่นักลงทุนต้องพิจารณาถึงโอกาสที่นักลงทุนจะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ต้องการกับหุ้นแต่ละตัวที่มีอยู่ในพอร์ต โดยที่หลักคิดง่ายๆในรูปแบบที่เรียกกันว่า “Goal-Based Investing” คือพยายามแบ่งพอร์ตการลงทุนออกเป็นชั้นๆ หรือ Layer แบบ “Pyramid” ตามความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ต้องการ เช่นถ้าเราคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปของ “เงินปันผล” หุ้นที่มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับ “Dividend Yield” ตามที่เราต้องการสูงที่สุด ควรมีสัดส่วนน้อยที่สุด ขณะที่หุ้นที่มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับ “Dividend Yield” ตามที่เราต้องการน้อยลงมา ก็ควรมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามลำดับ เป็นต้น
ซึ่งประโยชน์ของการจัดพอร์ตรูปแบบนี้มี 3 ประการคือนักลงทุนจะเข้าใจความเสี่ยงของพอร์ตมากขึ้น, เข้าใจโครงสร้าง หรือ Construction ของพอร์ต และสุดท้ายพอร์ตมีแนวโน้มที่จะมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี
ในส่วนที่สองคือการที่เราจะต้องควบคุมพอร์ตของเราได้นั้น ผมมองไปที่ความสามารถในการวิเคราะห์ และติดตามทั้งในเชิงพื้นฐาน และระดับราคาของหุ้นแต่ละตัวที่เรามีอยู่ในพอร์ตให้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งก็หมายความว่าสำหรับนักลงทุน 1 คนนั้น ไม่ควรมีจำนวนของหุ้นในพอร์ตมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการควบคุมพอร์ตลดน้อยลง ทั้งนี้จากการศึกษาในเชิงประจักษ์ (Empirical Study) พบว่านักลงทุน 1 คนควรมีหุ้นในพอร์ตราว 7-10 ตัว ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม และสามารถกระจายความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่งแล้ว
3. กฎในการซื้อ : เข้าซื้อในจังหวะที่ถูกต้อง
(Buy Rules : Enter a Position Correctly)
ต่อเนื่องจากกฎในข้อหนึ่ง และสอง ซึ่งในข้อหนึ่งจะช่วยให้เรามีหุ้นในกลุ่มเป้าหมายอยู่ในตะกร้าของเรา (แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อนะครับ) เพื่อรอจังหวะในการเข้าซื้อ และในข้อสองจะช่วยให้เราสามารถจัดหุ้นในกลุ่มเป้าหมายตามความเสี่ยงได้ออกเป็น Layer และสามารถกำหนดได้ว่าเราควรจะมีหุ้นในพอร์ตประมาณกี่ตัว ในส่วนของข้อที่สามนี้ เราจะสร้างกฎในการซื้อ เพื่อหาจังหวะในการเข้าซื้อที่ถูกต้อง แต่ต้องไม่ลืมเป้าหมายเบื้องต้นของการ “วางแผนการลงทุน” เด็ดขาด คือการหลีกเลี่ยง หรือป้องกันพอร์ตการลงทุนของเราจากการขาดทุน ดังนั้นหลักการง่ายๆของการกำหนดกฎในการซื้อ คือหาจังหวะในการเข้าซื้อในช่วงเวลาที่หุ้นมีโอกาสในการปรับตัวขึ้นมากกว่าลงในภาพรวม (ย้ำว่าในภาพรวม) ตลอด “ระยะเวลาการลงทุน” หรือ “Time Horizon” ที่เป็นเป้าหมายของเรา
ซึ่งในขั้นตอนนี้นักลงทุนอาจจะใช้ความรู้จากการศึกษาการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) อย่างเดียวก็ได้ เช่นการใช้อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้สะท้อนระดับราคา เช่น P/E Ratio, PBV Ratio หรือ Earnings Yield มาเทียบกับกับข้อมูลในอดีตว่าตัวเลข Ratio ระดับใดเหมาะสมกับการเข้าซื้อหุ้น เป็นต้น อย่างไรก็ดีสำหรับนักลงทุนที่พอมีเวลาในการศึกษาผมมองว่าการนำความรู้ในด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) หรือเชิงปริมาณ (Qualitative Analysis) เข้ามา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติมก็อาจเป็นสิ่งจำเป็น
เพราะเราต้องไม่ลืมว่าหุ้นจัดเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่ราคาเคลื่อนไหวบนอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ซึ่งก็แสดงว่าระดับราคาของหุ้นแต่ละตัวนั้นถูกกำหนดด้วยความเห็น หรือมุมมองต่อหุ้นตัวนั้นของนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด ซึ่งการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) หรือเชิงปริมาณ (Qualitative Analysis) ที่ถูกต้องตามหลักทฤษฎีจริงๆ อาจช่วยให้เรามีความเข้าใจความคิดเห็นร่วม หรือ Consensus และแนวโน้มของหุ้นเป้าหมายของเราได้
ทั้งนี้ในมุมมองของผมนั้น สำหรับนักลงทุนที่เป็นมือใหม่การที่จะเริ่มศึกษาการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) หรือเชิงปริมาณ (Qualitative Analysis) เพื่อจะนำมาใช้ในการหาจังหวะในการเข้าซื้อนั้น ควรอยู่บน 2 หลักการ ได้แก่ “ง่ายไว้ก่อนดีที่สุด” และ และ “น้อยแต่มาก” คือพยายามศึกษาเครื่องมือ หรือวิธีการที่มีความซับซ้อนน้อย, ง่ายต่อความเข้าใจ และต้องไม่นำเครื่องมือมาใช้เยอะเกินไป จนไม่สามารถตัดสินใจบนความมั่นใจที่มากกว่า 80% ได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้านักลงทุนจะนำการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) มาใช้ในการหาจังหวะในการเข้าซื้อ ควรเริ่มจากการพิจารณาเครื่องมือที่นักลงทุนส่วนใหญ่ใช้ เช่น Moving Average ผ่านรูปแบบ Crossover หรือ Indicators พื้นฐาน อย่าง RSI, Stochastic และ MACD ผ่านรูปแบบของ Signal หรือ Divergence เป็นต้นไปจนชำนาญก่อน เพราะสำหรับนักลงทุนมือใหม่การพยายามทำตัวเหนือชั้นในช่วงที่เริ่มตั้งไข่นอกจากจะทำให้มีโอกาสเดินได้ช้าแล้วถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นอาจเสียหายจนไม่สามารถเดินต่อได้อีกเลย
4. กฎในการขาย : รักษากำไร และหลีกเลี่ยงการขาดทุน
(Sell Rules : Lock in Profits and Avoid Losses)
คำกล่าวที่ว่า “ซื้อเป็นแต่ขายไม่เป็น เป็นสาเหตุของความล้มเหลว” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในตลาดหุ้น ดังนั้นเป้าหมายสำคัญของการสร้างกฎในการขาย คือการรักษาผลกำไรที่เรามีอยู่ (Lock in a Profit) และหลีกเลี่ยงการขาดทุนที่มากเกินไป (Avoid Excessive Losses) ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม หรือตัวเลขออกมา โดยเน้นไปที่การตัดสินใจบน “ความจริง” หรือ “Facts” เป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดสินใจโดยใช้ “ความรู้สึก” หรือ “Emotion” ซึ่งการตัดสินใจโดยใช้ “ความรู้สึก” จะนำไปสู่พฤติกรรมที่เรียกว่า “กลัวการขาดทุน” หรือ “Loss Aversion” ได้ง่ายๆ
*** “Loss Aversion” = การถือหุ้นแย่ที่ราคาปรับตัวลงไปเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่าสักวันมันจะกลับมา และไม่อยากขาดทุน หรือรีบขายหุ้นที่ดีออกมาเร็วเกินไป เพื่อรับรู้กำไรเอาไว้ก่อน
ทั้งนี้ในการสร้างกฏในการขายนั้น สามารถนำหลักการของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) และวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) มาใช้ได้ทั้งคู่ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
- กรณีที่ขายเพื่อรักษาผลกำไรที่เรามีอยู่ (Lock in a Profit) ซึ่งแน่นอนในกรณีนี้เป็นการดำเนินการหลังจากที่ราคาหุ้นที่เราซื้อปรับตัวขึ้นตามคาด หรือเป็น Winner โดยที่ในกรณีนี้ถ้านำมุมมองของวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) มาใช้ เราอาจจะกำหนด “จุดขาย” ได้จากราคาเป้าหมาย หรือราคาเหมาะสม ที่เราประเมิน หรือกำหนดไว้ในตอนแรกก่อนที่เราเข้าซื้อ ร่วมกับเงื่อนไขในเชิงพื้นฐานของบริษัทที่เราลงทุนนั้นๆด้วย เนื่องจากเราจะยังคงมั่นใจต่อราคาเป้าหมาย หรือราคาเหมาะสม ที่เราประเมินไว้ได้ ต้องอยู่บนสมมติฐานที่พื้นฐานของบริษัทที่เราลงทุนไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เราประเมินด้วย
ขณะที่ในมุมมองของวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) สำหรับนักลงทุนที่มีประสบการณ์อาจมีทางเลือกที่หลากหลาย และซับซ้อนได้ ทั้งการใช้ Trend Line หรือ Golden Ratio ต่างๆเป็นต้น แต่สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ผมอยากให้เริ่มจากการศึกษาวิธีการขายทำกำไร เมื่อราคาหุ้นมี “สัญญานของการเปลี่ยนแนวโน้ม หรือ “Reversal Signal” ง่ายๆก่อน เหมือนตอนที่ใช้หาจังหวะในการเข้าซื้อ เช่นการใช้ Moving Average ผ่านรูปแบบ Crossover หรือ Indicators พื้นฐาน อย่าง RSI, Stochastic และ MACD ผ่านรูปแบบของ Signal หรือ Divergence เป็นต้นไป
- กรณีที่ขายเพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุนที่มากเกินไป (Avoid Excessive Losses) หรือการขายเพื่อตัดขาดทุน (Cut Loss) ในกรณีนี้เป็นการดำเนินการหลังจากที่ราคาหุ้นที่เราซื้อปรับตัวลงไม่เป็นไปตามที่เราคาด หรือกลายเป็น Loser ซึ่งในมุมมองของผมการกำหนดระดับราคา หรือ “Cut-Off Price” ว่าเราจะขายหุ้น เพื่อ “Cut Loss” เมื่อราคาหุ้นลงมากี่เปอร์เซ็นต์นั้น อยู่บนแนวคิด หรือ Concept เดียวกับการซื้อประกันภัย หรือ Insurance เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่มากเกินกว่าจะรับได้กับพอร์ตการลงทุนของเรา จากการปรับตัวลงของราคาหุ้นมากกว่าเปอร์เซ็นต์ที่เรากำหนด โดยขึ้นอยู่กับความพอใจ และเป้าหมายที่จะสามารถมีวินัยกับมันได้ของแต่ละคน ซึ่งควรจะกำหนดตามระดับการยอมรับความเสี่ยง หรือ Risk Tolerance ของนักลงทุนแต่ละท่าน
อย่างที่บอกคือเราควรมอง “Cut Loss” ใน Concept เดียวกับการซื้อประกันภัย หรือ Insurance ที่เราจ่ายเพื่อซื้อความคุ้มครอง เพราะถึงเวลาจริงๆ ราคาหุ้นอาจไม่ลงต่อก็ได้ เหมือนคนที่ซื้อประกันภัยที่ถึงเวลาจริงๆในแต่ละปีอาจไม่มีอุบัติเหตุเลยก็ได้ แต่ที่เราต้องทำก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงของเรา บนเป้าหมายของการขาดทุนให้น้อยที่สุดเมื่อตัดสินใจผิด และกำไรให้มากที่สุดเมื่อตัดสินใจถูกต้อง
5. กฎในการอยู่กับตลาด : อย่างตรงข้ามกับแนวโน้มตลาดในภาพรวม
(Overall Market Rules : Make Friends with the Trend)
กฎในการอยู่กับตลาดง่ายๆเลยสำหรับนักลงทุนมือใหม่ คือการไม่ลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นในภาพรวมเป็นขาลง (Downtrend) เพราะในความเป็นจริงแล้วในภาวะที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง แม้แต่หุ้นที่มีพื้นฐานดีที่สุดก็อาจปรับตัวลง และทำให้เราขาดทุนได้ หรือพูดอีกมุมหนึ่งก็คือนักลงทุนหน้าใหม่ควรเข้ามาลงทุน หรือเริ่มลงทุนในภาวะที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น (Uptrend) น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับความรู้ และประสบการณ์ในการลงทุนที่ยังจำกัดมากที่สุด
คำถามคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตลาดหุ้นในภาพรวมยังคงเป็นขาขึ้น (Uptrend) ในมุมมองของผม สำหรับนักลงทุนมือใหม่การพยายามศึกษาข้อมูลจากบทวิเคราะห์วิจัยจากสำนักวิจัยที่น่าเชื่อถือในเชิงคุณภาพ (ไม่ใช่จากข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์นะครับ) น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งเราอาจจะนำมาใช้ร่วมกับการใช้วิจารณญานของเราในการพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลของบทวิเคราะห์วิจัยนั้นด้วยก็ได้ เช่น ถ้าสำนักวิจัยหนึ่งระบุว่าตลาดหุ้นไทยในปีนี้ยังคงเป็นขาขึ้น ปัจจัยแรกที่สุดที่เราจะต้องพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลก่อนเลย คือ “การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย” หรือ “GDP Growth” และ “การขยายตัวของกำไรปกติในตลาดหุ้นไทย” หรือ “Core Earnings Growth” ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าหรือไม่ ? ซึ่งรูปแบบการพิจารณาแบบนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไปสำหรับนักลงทุนมือใหม่
นอกจากนี้เราอาจนำมุมมองของการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) มาใช้ก็ได้ ซึ่งเครื่องมือที่ง่ายที่สุด คือ Moving Average เนื่องจาก Concept ง่ายๆของ Moving Average หรือ MA คือการสะท้อนต้นทุนเฉลี่ยของนักลงทุนในแต่ละช่วงเวลา เช่น MA 75 วันสะท้อนต้นทุนของนักลงทุนที่ลงทุนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หรือ MA 200 วันสะท้อนต้นทุนของนักลงทุนที่ลงทุนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้าดัชนีตลาดหุ้นยังคงแกว่งตัวอยู่เหนือ Moving Average ในแต่ละช่วงเวลาได้ ก็อาจจะสะท้อนว่าตลาดหุ้นยังคงเป็นขาขึ้นในช่วงเวลานั้นได้ โดยที่สามารถตีความได้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่ของตลาดมีความเห็นร่วมกัน (Consensus) ว่ายังคงเต็มใจที่จะซื้อหุ้นในระดับราคาที่สูงกว่าต้นทุนเฉลี่ยในอดีต เช่นดัชนีตลาดหุ้นยังคงแกว่งตัวอยู่เหนือ MA 75 วันอาจระบุว่าตลาดหุ้นในระยะ 3 เดือนยังคงเป็นขาขึ้น ตรงกันข้ามถ้าดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลงมาต่ำกว่า MA 75 วันอาจระบุว่าตลาดหุ้นในระยะ 3 เดือนกลับมาเป็นขาลงแล้ว
6. กฎในการใช้กฏ: มีวินัยกับกฏเกณฑ์การลงทุนของตัวเอง
(A Rule of Rules : Stick to Them)
กฎข้อสุดท้ายของการกำหนดแผนการลงทุนในรูปแบบ “Rules-Based Investing” หรือ “การลงทุนแบบมีกฎเกณฑ์” สำหรับนักลงทุนมือใหม่นั้น ก็คือการมีวินัยกับกฎ 5 ข้อข้างต้นที่นักลงทุนแต่ละท่านได้กำหนดไว้ หลักการก็คือหากเราไม่มีวินัยแม้กระทั้งกับกฎเกณฑ์ที่เราตั้งขึ้นมาเองแล้ว โอกาสที่นักลงทุนหน้าใหม่ที่ยังคงมีประสบการณ์น้อยเหมือนนกเพิ่งหัดบิน จะประสบความสำเร็จนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
แน่นอนว่านักลงทุนแต่ละท่านอาจมีแนวทางในการลงทุนที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีประสบการณ์ในการลงทุนมามากแล้ว แต่ในส่วนของนักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งเริ่ม หรือกำลังคิดที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นนั้น การกำหนดแผนการลงทุนในรูปแบบที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นน่าจะเหมาะสมและพอจะปฏิบัติตามได้ไม่ยากเกินไปนะครับ
ยิ่งศึกษามากยิ่งเชี่ยวชาญ และยิ่งเชี่ยวชาญยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จครับ