เริ่มต้นวิเคราะห์งบการเงินอย่างไรดี ?
How I Analyze Earnings Releases ?

โดย ณาศิส ประเสริฐสกุล, CISA (นายหมูบิน)

คำถามที่นักลงทุนมือใหม่หรือแม้กระทั่งมือเก่าบางท่านมักจะพบในทุกไตรมาสที่บริษัทซึ่งตัวเองลงทุนอยู่ประกาศงบ หรือผลการดำเนินงานออกมาแล้ว คือเราจะวิเคราะห์งบการเงินอย่างไร หรือวิเคราะห์อย่างไรให้รู้ว่าดีหรือไม่ดี คำถามง่ายๆแต่ยากที่หาคำตอบหรือบางคนรู้คำตอบว่าต้องทำอย่างไรแต่ก็เป็นวิธีที่ยุ่งยาก

และใช้เวลามากจนบางครั้งทำไม่ได้ในความเป็นจริง โดยเฉพาะในกรณีที่ในพอร์ตของท่านมีหุ้นหลายตัว และบังเอิญดันประกาศงบวันเดียวกันด้วย แบบนี้นักลงทุนที่ไม่แม่นเรื่องงบการเงินจริงคงมึนได้เหมือนกัน และที่สำคัญกลายเป็นว่าเลือกที่จะไม่สนใจผลการดำเนินงานที่ประกาศออกมาเลย ซึ่งผมมองว่าอันตรายอย่างมากสำหรับการลงทุน

ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกันสถานการณ์ปัจจุบันที่ตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงการประกาศงบการเงิน หรือ Earnings Season ผมจึงขออนุญาตนำหลักการวิเคราะห์งบการเงินที่ประกาศออกมาในรายไตรมาสแบบง่ายๆ ที่มีเป้าหมายให้การวิเคราะห์ผลการดำเนินงานที่ประกาศออกในแต่ละไตรมาส ซึ่งคุณ Charles Rotblut, CFA บรรณาธิการของนิตยสาร AAII Journal เขียนในหัวข้อ How I Analyze Earnings Releases ? ไว้มาเล่าให้ฟังสั้นๆดังนี้ครับ

 

1. คำนวนการเปลี่ยนแปลงของยอดขาย กำไรต่อหุ้น และกำไรสุทธิ
(Hone in on Revenue, Earnings per Share and Net Income)

สิ่งแรกที่นักลงทุนต้องทำ และง่ายที่สุดในการทำ คือการระบุอัตราการเปลี่ยนแปลง หรือ Growth Rate ของรายได้ (Revenues), กำไรต่อหุ้น (Earnings per Share หรือ EPS) และกำไรสุทธิ (Net Income) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือ %YoY ให้ได้ ทั้งนี้ในเบื้องต้นท่านอาจพิจารณาแยกกันก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดีถ้าพิจารณาร่วมกันกับปัจจัยอื่นได้ ก็จะได้มุมมองในการวิเคราะห์ที่แหลมคมยิ่งขึ้น

เช่น ถ้ากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่มากกว่ายอดขาย ก็แสดงว่าอัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร หรือ Profit Margin ดีขึ้น ตรงกันข้ามถ้ากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่น้อยกว่ายอดขาย ก็แสดงว่า Profit Margin แย่ลง หรืออาจจะเทียบกำไรสุทธิกับกำไรต่อหุ้น เช่นถ้ากำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนมากกว่ากำไรสุทธิ ก็หมายความว่าในรอบบัญชีนั้น บริษัทมีการลดจำนวนหุ้นจดทะเบียนลง เป็นต้น


2.
เปรียบเทียบกำไรต่อหุ้นจริง กับที่คาดการณ์ (จากนักวิเคราะห์)
(Compare EPS to Expectations)

การเปรียบเทียบกำไรต่อหุ้น หรือ EPS ที่ถูกประกาศออก กับความคาดหวังของตลาด ที่สะท้อนออกมาจากประมาณการณ์ของนักวิเคราะห์ หรือ Consensus Earnings Estimate เป็นอะไรที่สะท้อนผลการดำเนินงานในแต่ละไตรมาส ซึ่งมองเห็นได้ทันที และง่ายที่สุด

ประเด็นคือแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ EPS ของหุ้นในพอร์ตเราทุกตัวจะถูกประกาศออกมาใกล้เคียงกับประมาณการณ์ของนักวิเคราะห์ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องตระหนักคือประมาณการณ์ของนักวิเคราะห์นั้น ส่วนใหญ่ก็มาจากข้อมูลที่ผู้บริหารของแต่ละบริษัทให้มานั้นแหละ ดังนั้นการที่ EPS ถูกประกาศออกมาต่าง หรือ Miss จากประมาญการณ์ของนักวิเคราะห์มาก นักลงทุนควรได้รับการอธิบายจากผู้บริหารของแต่ละบริษัท (ในเมืองไทยผมจึงสนับสนุนให้มีบริษัทเข้าร่วมกิจกรรม Opportunity Day ให้มากที่สุด) ซึ่งถ้าความแตกต่างทั้งในด้านบวกและลบเป็นผลแค่ชั่วคราว ก็คงสามารถที่จะยอมรับได้ในการคงสถานะการลงทุนในหุ้นตัวนั้นต่อไป แต่ถ้าเป็นไปในทางตรงกันข้าม การพิจารณาปรับกลยุทธ์ก็เป็นสิ่งจำเป็น


3.
ตรวจสอบอัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร
(Examine Profit Margins)

แน่นอนว่าผู้บริหารของแต่ละบริษัทมักจะทำอย่างสุดความสามารถ เพื่อที่จะสามารถทำให้กำไรของบริษัทในบรรทัดสุดท้ายของงบกำไรขาดทุน หรือ Bottom Line ให้ออกมาสูงที่สุด แต่บ่อยครั้งพอเราไปพิจารณาผ่านอัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร หรือ Profit Margin กับได้ภาพที่ต่างออกไป ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญ ทั้งๆที่ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจาก Profit Margin จะเป็นตัวสะท้อนโอกาสที่จะอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาวที่ชัดเจนที่สุด

การหาคำตอบหลังจากงบการเงิน หรือผลการดำเนินงานถูกประกาศออกมาทันที ถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของ Profit Margin (เฉพาะที่มีนัยสำคัญก็ได้) จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะกรณี Profit Margin แคบลง อาจเป็นสัญญาณร้ายที่สะท้อนความรุนแรงของการแข็งขันที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรม, การเปลี่ยนแปลงของ Product Mix หรืออาจจะมาจากปัจจัยอื่นๆ เช่นต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นก็ได้ ซึ่งการวิเคราะห์ Profit Margin ผลประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้แน่นอน คือการเข้าใจธุรกิจที่เราลงทุนอยู่ได้ดียิ่งขึ้น

* Gross Margins = Gross Profits/ Revenues
* Operating Margins = Operating Profits/ Revenues

4. คำนวณหาตัวเลขกระแสเงินสดอิสระ หรือตัวเลข EBITDA
(Calculate Free Cash Flow or EBITDA)

แน่นอนว่าคงไม่มีบริษัทไหนประกาศตัวเลขกระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow มาพร้อมกับงบการเงินด้วย แต่คุณก็สามารถคำนวณได้เองไม่ยากนัก (Free Cash Flow = Cash Flow from Operating Activities – Capital Expenditures – Dividend Payments) หรือในบางครั้งบน Concept ที่คล้ายกันเราอาจใช้ตัวเลข EBITDA ในงบกำไรขาดทุน หรือ Income Statement มาพิจารณาก็ได้

แต่ข้อพึ่งระวังที่ควรตระหนักเสมอคือตัวเลขจากงบกระแสเงินสด หรือ Cash Flow Statement นั้นจะถูกตกแต่ง หรือ Manipulate ได้ยากกว่าตัวเลขจากงบกำไรขาดทุน หรือ Income Statement อย่าง EBITDA


5.
ตรวจสอบตัวเลขที่เป็นปัจจัยร่วมกันของทุกบริษัทในอุตสาหกรรม
(Check Industry-Specific Factors)

สิ่งที่คุณต้องรู้ให้ได้ก่อนที่คุณจะลงทุนในหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง คือปัจจัย หรือตัวแปรที่ตลาดมองว่าจะสามารถสะท้อนแนวโน้มหลักในปัจจุบันของแต่ละธุรกิจ ซึ่งต้องแสดงออกมาเป็นตัวเลขได้ และแน่นอนว่าต้องเป็นปัจจัย หรือตัวแปรที่ตลาดประเมินมูลค่า หรือความน่าสนใจในลงทุนจากปัจจัยนั้นๆด้วย ซึ่งในบ้างอุตสาหกรรมอาจมีเพียงตัวเลขเดียวที่มีนัยสำคัญ และตลาดให้มูลค่ากับมันก็ยังได้

ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจโรงแรม พิจารณาจากตัวเลข RevPAR (Revenue per Available Room), สายการบิน พิจารณาจากตัวเลข Load Factor, โรงกลั่น พิจารณาตัวเลขค่าการกลั่น หรือ Stock Gain/Loss, ปิโตรเคมี พิจารณาตัวเลข Product Spread และธุรกิจที่อยู่อาศัย พิจารณาตัวเลขยอดขาย หรือยอดโอน เป็นต้น

ซึ่งตัวเลขดังกล่าวที่ว่ามานี้บริษัทมักเปิดเผย และผมคิดว่าจำเป็นต้องเปิดเผยออกมาใน MD&A พร้อมกับการประกาศผลการดำเนินงานในแต่ละไตรมาสอยู่แล้ว ซึ่งถ้าบริษัทไม่ยอมเปิด นักลงทุนควรกดดันให้เปิด เนื่องจากเป็นตัวเลขที่สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ใช้การประมาณการจากผู้บริหารเอง ที่อาจจะขัดต่อ พรบ.หลักทรัพย์ฯ ของไทยในบางกรณีได้

6. พิจารณาข้อมูลอื่นๆที่อยู่นอกเหนืองบการเงิน
(Look Over Other Information)

เพื่อความครบถ้วนในการวิเคราะห์การลงทุน เมื่อมีการประกาศผลการดำเนินงานออกมา นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจ และอาจถึงขั้นตรวจสอบอย่างละเอียดในทุกประเด็น ซึ่งอาจเป็นข้อมูลอื่นๆจากบริษัทที่อยู่นอกเหนือจากงบการเงินด้วย เช่นข่าวต่างๆที่กระทบต่อสิทธิ และมูลค่าหุ้นของผู้ถือหุ้นโดยตรง ที่มักประกาศออกมาพร้อมผลการดำเนินงาน เช่นการประกาศจ่ายเงินปันผล หรือการซื้อหุ้นคืน

รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลเพื่ออธิบายผลการดำเนินงานของบริษัททั้งที่ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ และสื่อสารมวลชนต่างๆ หรือการแถลงผลการดำเนินงานของบริษัททั้งที่บริษัทจัดขึ้นเอง หรือผ่านการเข้าร่วมกิจกรรม Opportunity Day ของตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น โดยสิ่งที่เราคาดหวังที่จะได้คือการทราบข้อมูลจากผู้บริหารโดยตรงว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในธุรกิจ และเพื่อนำข้อมูลเปรียบเทียบกับ Guidance ที่ผู้บริหารให้ในไตรมาสก่อนหน้า

7. บันทึกผลการวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบกับอดีต และอนาคต
(Keep Notes)

ข้อสุดท้ายไม่มีอะไรมากครับ แค่จด หรือบันทึกทุกอย่างที่ได้จากการวิเคราะห์ตาม 6 ข้อที่ผ่านมาตามความเข้าใจของเรา ไม่ต้องซับซ้อน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จากไตรมาสก่อนหน้า และเอาไปเปรียบเทียบในไตรมาสต่อไปด้วย โดยมีวัตถุประสงค์ให้สามารถระบุแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทที่เราลงทุนอยู่ หรือสนใจที่จะลงทุนได้