เมื่อไรที่ควรตัดใจขายหุ้นเพื่อ “Cut Loss” ตัดขาดทุน
When to Cut Losses to Protect Your Portfolio
โดย ณาศิส ประเสริฐสกุล, CISA (นายหมูบิน)
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง และเชื่อว่านักลงทุนหลายท่านก็คงเห็นด้วยเช่นกัน กับคำกล่าวของสุดยอดกูรูหุ้นคนหนึ่งของโลกอย่าง William J. O’Neil เจ้าของสูตรการเลือกหุ้น “CANSLIM” อันโด่งดัง ที่ระบุว่า “Success in the stock market is as much about limiting losses as it is about riding winning stocks” หรือแปลให้เข้าใจง่ายๆคือ “ความสำเร็จในตลาดหุ้นนั้น มีสาเหตุมาจากความสามารถในการจำกัดการขาดทุน มากพอๆกับความสามารถในการเลือกหุ้นที่ถูกต้อง” ทั้งนี้ผมเชื่อว่านักลงทุนแทบทุกคนต่างเคยได้ยินมาไม่มากก็น้อยว่าการ “ตัดขาดทุน” หรือ “Cut Loss” นั้น เป็นหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญของการลงทุนในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนระยะใดก็ตามทั้งสั้น และยาว โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่นักลงทุนพิจารณาแล้วว่าการประเมินการลงทุนของเรามีความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้ว และจำเป็นต้องหยุดความเสียหายไว้เท่านี้
ปัญหาคือนักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ของประเทศไทย จริงๆต้องบอกว่านักลงทุนรายย่อยเกือบทั้งหมด มีปัญหาอย่างมากกับการตัดสินใจขายหุ้น เพื่อ “Cut Loss” เนื่องจากเหตุผลสำคัญ 2 ประการคือ
1. นักลงทุนไม่ได้มีการกำหนด “กลยุทธ์ในการขายหุ้นที่มีกฏอย่างชัดเจน” หรือ “Rule-Based Selling Strategy” ไว้ตั้งแต่ต้น (คิดแต่จะซื้อเพื่อหวังว่าหุ้นจะขึ้น โดยไม่ได้คิดถึงว่าจะขายเมื่อไร)
2. นักลงทุนขาดวินัยในการลงทุนเพราะต่อให้คิดกลยุทธ์มาดีแค่ไหนถ้าไม่กล้าที่จะทำตามก็เสียเวลาเปล่า
ดังนั้นเพื่อที่จะมาช่วยให้เราสามารถกำหนด “กฎในการตัดขาดทุน” หรือ “Loss-Cutting Rule” ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “Rule-Based Selling Strategy” เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย และรักษาสถานะพอร์ตการลงทุน เราจะมาดูกันว่ามีประเด็นอะไรที่ช่วยให้เราตัดสินใจว่าเมื่อไรควรขายหุ้นที่มีอยู่ เพื่อ “Cut Loss” !
รู้ตัวว่าเมื่อไรที่ควรจะยอมแพ้
(Know When to Fold ’Em)
ไม่มีใครเก่งตลอดกาลในตลาดหุ้น แม้กระทั้งนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่อย่าง George Soros หรือ Warren Buffett ต่างก็เคยตัดสินใจผิดพลาดมาแล้วทั้งนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนชั้นเซียนพวกนี้มี ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่มี คือเมื่อรู้ว่าพลาดก็พร้อมที่จะถอยอย่างรวดเร็ว โดยหลักการง่ายๆคือเราอาจจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จก็ได้ แม้ว่าในการตัดสินใจ 10 ครั้ง เราอาจถูกเพียงแค่ 3-4 ครั้ง แต่ถ้าในครั้งที่เราพลาด หรือรู้ตัวว่าหุ้นที่เราเลือกมันไม่ Work Out แล้ว เราตัดสินใจถอย หรือ “Cut Loss” ได้เร็ว ความเสียหายจากการขาดทุน 7 ครั้ง อาจจะน้อยกว่าผลประโยชน์จากการกำไรเพียง 3 ครั้งก็ได้
แต่ปัญหาก็คือมีนักลงทุนจำนวนมากยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความผิดพลาดได้เกิดขึ้นแล้ว ตรงนี้คือสิ่งที่อันตรายมากกว่า เพราะทำให้การลงทุนของคุณขึ้นอยู่กับดวง หรือโชคชะตาเท่านั้น ถามว่าแล้วทำไมถึงเป็นอย่างนั้น คำตอบก็คือ ในบางครั้งเราไม่รู้ตั้งแต่ตอนที่เราซื้อหุ้นด้วยซ้ำว่าเราซื้อหุ้นตัวนั้นเพราะอะไร โดยเราอาจซื้อหุ้นจากข่าวลือ หรือการบอกของคนอื่นๆ เช่นนักวิเคราะห์, ที่ปรึกษาการลงทุน, สื่อต่างๆ หรือแม้กระทั่งสังคมออนไลน์ โดยที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ที่ถูกต้อง และดีพอ ดังนั้นเมื่อเราไม่รู้ว่าหุ้นที่เราซื้อดีอย่างไรตั้งแต่ต้น เราจึงไม่มีวันที่จะรู้เลยว่าหุ้นตัวนั้นจะแย่ หรือการตัดสินใจของเราผิดพลาดเมื่อไร
ดังนั้นก่อนที่จะซื้อหุ้น นักลงทุนควรจะมีข้อมูลเบื้องต้นก่อนว่าเรากำลังคาดหวังปัจจัยบวก หรือ Catalyst อะไรอยู่ ที่จะสามารถทำให้ราคาหุ้นที่เป็นเป้าหมาย หรือ Target ของเราปรับตัวขึ้นได้ตามกรอบเวลา (Time Horizons) ที่เราตั้งเป้าไว้ เพื่อนำมากำหนด “Loss-Cutting Rule” และเมื่อปัจจัยที่เราคาดหวังไม่เกิดขึ้น หรือมีแนวโน้มที่จะไม่เกิดขึ้น เราจะได้ถอยได้ทัน
จำไว้อย่างหนึ่งว่านักลงทุนแต่ละคนมีความสามารถ และข้อจำกัดในการลงทุนไม่เท่ากัน ทั้งในด้านความรู้ด้านการลงทุน, ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่จะทุ่มเทให้กับมัน ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญของนักลงทุนรายย่อย ที่มีหน้าที่การงานอื่นๆต้องรับผิดชอบ หรือไม่ได้เป็นนักลงทุนมืออาชีพ ดังนั้นเราอาจไม่ต้องถึงขนาดพยายามวิเคราะห์ให้ได้มาตรฐานระดับเดียวกับมืออาชีพ อย่างนักวิเคราะห์ หรือผู้จัดการกองทุน แต่เราควรจะพยายามหาปัจจัยบวก หรือ Catalyst ที่เราจะนำมาใช้ตัดสินใจลงทุนที่เราสามารถเข้าใจได้ และสามารถติดตามได้อย่างแท้จริง ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องยากมากก็ได้
เช่นถ้าเราซื้อหุ้น AAA เนื่องจากนักวิเคราะห์คาดหวังว่ากำไรสุทธิจะออกมาเพิ่มขึ้น 30% ถ้าถึงเวลาจริงๆกำไรไม่ได้ออกมาเพิ่มขึ้นตามที่คาด หรือมีแนวโน้มว่าจะไม่เป็นไปตามที่คาด ประกอบกับราคาหุ้นต่ำกว่าระดับราคาที่เราจะใช้หยุดขาดทุน หรือ “Cut-Off Price” ตามหลักการของ “Loss-Cutting Rule” แล้ว เราต้อง “ขายทันที” โดยไม่ต้องมีคำว่า “เดี๋ยวดูก่อน“, “กลัวขายหมู” หรือ “อาจจะดีในไตรมาสหน้า” เป็นต้น เพราะการไม่ทำตามแผน ก็เท่ากับการไม่มีวินัยการลงทุนนั้นเอง ของอย่างนี้ต้องฝึกนะครับยิ่งฝึกยิ่งมั่นใจ
ตัดขาดทุนก่อนจะสายไป
(Cut Your Losses Early)
ในตำราหุ้นมักมีคำกล่าวให้ได้พบเสมอว่า “The Greater the loss, the greater the chance of it developing into a really serious loss.” หรือ “ยิ่งขาดทุนมากขึ้นเท่าไร ยิ่งตามมาด้วยการขาดทุนที่หนักกว่ามากขึ้นเท่านั้น” สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการตัดสินใจในการใช้ “กฎในการตัดขาดทุน” หรือ “Loss-Cutting Rule” เมื่อพบความผิดพลาดในการลงทุนอย่างชัดเจน
ในส่วนของ William J. O’Neil ได้กล่าวไว้ว่ากฎเบื้องต้น หรือ Primary Rule ของการ “Cut Loss” คือเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลงมาต่ำกว่าราคาที่เราซื้อมากกว่า 8% (Current Price – Purchase Price < -8%) ถามว่าทำไมต้อง 8% William J. O’Neil ระบุว่างานวิจัยจำนวนมากชี้ชัดว่าถ้าการวิเคราะห์ทั้งในเชิงพื้นฐาน และเทคนิคของเราถูกต้อง จุดซื้อที่เหมาะสม หรือ Proper Buy Point จะเกิดขึ้นเมื่อราคาหุ้นถอยลงมา 8% และราคาหุ้นควรดีดกลับ หรือ Rebound ในทางตรงกันข้ามถ้าราคาหุ้นลงมามากกว่า 8% อาจสะท้อนว่าปัจจัยในเชิงพื้นฐาน หรือเทคนิคที่เราเชื่ออาจเปลี่ยนไปแล้ว
อย่างไรก็ดี Primary Sell Rule ของ William J. O’Neil อยู่บนเงื่อนไขว่าคุณต้องซื้อหุ้นในราคา และเวลาที่ถูกต้องด้วย ซึ่งท่านอาจจะเลือกทำตามมุมมองดังกล่าวก็ได้
แต่ในมุมมองของผมการกำหนดระดับราคา หรือ “Cut-Off Price” ว่าเราจะขายหุ้น เพื่อ “Cut Loss” เมื่อราคาหุ้นลงมากี่เปอร์เซ็นต์นั้น อยู่บนแนวคิด หรือ Concept เดียวกับการซื้อประกันภัย หรือ Insurance เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่มากเกินกว่าจะรับได้กับพอร์ตการลงทุนของเรา จากการปรับตัวลงของราคาหุ้นมากกว่าเปอร์เซ็นต์ที่เรากำหนด โดยขึ้นอยู่กับความพอใจ และเป้าหมายที่จะสามารถมีวินัยกับมันได้ของแต่ละคน ซึ่งควรจะกำหนดตามระดับการยอมรับความเสี่ยง หรือ Risk Tolerance ของนักลงทุนแต่ละท่านมากกว่า
สรุปคือท่านต้องถามตัวเองว่าในการลงทุนแต่ละครั้งเราสามารถยอมรับขาดทุนจากการตัดสินใจพลาด หรือยอมจ่ายเบี้ยประกันภัย (Premium) ได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์จากราคาทุน ตัวเลขนั้นแหละครับคือเป้าหมายที่เราจะใช้ในการกำหนด “Cut-Off Price” เพื่อตัดสินใจ “Cut Loss” ซึ่งนักลงทุนแต่ละท่านอาจมีตัวเลขดังกล่าวมากกว่า หรือน้อยกว่า 8% ก็ได้
นอกจากนี้ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งในการกำหนด “Cut-Off Price” ที่มีการนำมาใช้เยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนที่เป็น Technician คือการนำเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ หรือ Moving Average (MA) มาใช้เป็น “Cut-Off Price” ตามหลักการที่เรียกว่า “Crossover” โดยจะเลือกระยะเวลา หรือ Period ในการคำนวน MA ที่สอดคล้องกับกรอบเวลาการลงทุน หรือ Time Horizons ที่นักลงทุนตั้งเป้าไว้ เช่นนักลงทุนที่ลงทุนระยะสั้นๆไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะตัดสินใจ “Cut Loss” เมื่อราคาหุ้นปรับตัวลงต่ำกว่า MA ระยะ 5 วัน หรือลงทุนระยะสั้นๆไม่เกิน 1 เดือน จะตัดสินใจ “Cut Loss” เมื่อราคาหุ้นปรับตัวลงต่ำกว่า MA ระยะ 25 วัน เป็นต้น
แต่ไม่ว่าจะใช้ทางเลือกไหน ประเด็นคือเราต้องมีวินัยกับ “Cut-Off Price” มากๆเท่านั้นเอง อย่างที่บอกคือเราควรมอง “Cut Loss” ใน Concept เดียวกับการซื้อประกันภัย หรือ Insurance ที่เราจ่ายเพื่อซื้อความคุ้มครอง เพราะถึงเวลาจริงๆ ราคาหุ้นอาจไม่ลงต่อก็ได้ เหมือนคนที่ซื้อประกันภัยที่ถึงเวลาจริงๆในแต่ละปีอาจไม่มีอุบัติเหตุเลยก็ได้ แต่ที่เราต้องทำก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงของเรา บนเป้าหมายของการขาดทุนให้น้อยที่สุดเมื่อตัดสินใจผิด และกำไรให้มากที่สุดเมื่อตัดสินใจถูกต้อง
องค์ประกอบต้องครบทั้งปัจจัย และราคา
(Factor and Price Combination)
จากที่ผมได้เรียนไปในข้างต้น โดยสรุปแล้วจะพบว่าตัวแปร หรือ Factor ที่ใช้ในการพิจารณาว่าจะตัดสินใจขายหุ้น เพื่อ “Cut Loss” จะประกอบด้วย
1. ปัจจัยบวก หรือ Catalyst ที่เราคาดหวังว่าจะเข้ามาหนุนราคาหุ้น สามารถเป็นจริงตามที่เราคาด หรือยังคงมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้หรือไม่?
2. ราคาหุ้นปรับตัวลงมาต่ำกว่าระดับราคาที่เรายอมรับได้ หรือ “Cut-Off Price” หรือไม่?
ซึ่งในมุมมองของผมการตัดสินใจขายหุ้น เพื่อ “Cut Loss” จำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้ง 2 ตัวแปรข้างต้นต้องเกิดขึ้นครบทั้ง 2 ตัวแปร เพราะโดยส่วนใหญ่ราคาหุ้นไม่ได้เคลื่อนไหวตามพื้นฐานของตัวมันเองเสมอไป แต่เคลื่อนไหวตามภาวะตลาดมาก– น้อยต่างกัน ซึ่งระดับดังกล่าวเรียกว่า “Relative Strength” ยกตัวอย่างเช่นถ้าหุ้น BBB ประกาศผลการดำเนินงานออกมาเป็นไปตามที่เราคาด แต่ราคาหุ้นปรับตัวต่ำกว่า “Cut-Off Price” เราก็อาจจะยังไม่จำเป็นต้องขายหุ้น BBB ออกก็ได้ โดยเฉพาะถ้าราคาหุ้นปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับภาวะตลาดในภาพรวม ในทางตรงกันข้ามถ้าหุ้น BBB ประกาศผลการดำเนินงานออกมาไม่เป็นไปตามที่เราคาด แต่ราคาหุ้นยังไม่ต่ำกว่า “Cut-Off Price” เราก็อาจจะยังไม่จำเป็นต้องขายหุ้น BBB ออกก็ได้เช่นกัน
การใช้ทั้ง 2 ตัวแปรประกอบกันนอกจากจะช่วยลดโอกาสความผิดพลาดแล้ว น่าจะช่วยให้นักลงทุนทำใจได้ง่ายขึ้นที่จะขายหุ้น เพื่อ “ตัดขาดทุน” หรือ “Cut Loss” โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนส่วนใหญ่ที่มีความเข้าใจผิดว่า “ตราบใดที่ยังไม่ขายหุ้น ก็ยังไม่ขาดทุน” ทั้งๆที่ในความเป็นจริง “ขาดทุนไปตั้งแต่ตัดสินใจซื้อหุ้นผิดพลาดเข้ามาในพอร์ตแล้ว”
ขณะที่นักลงทุนในกลุ่มที่กลัวว่าจะ “ขายแล้วหุ้นดีดกลับ” หรือ “ขายหมู” ผมคงต้องบอกว่าการที่เราทำอะไรโดยมีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ เช่น เรารู้ว่าซื้อหุ้นตัวนี้เพราะอะไร และเราขายเพื่อ “Cut Loss” มันเพราะอะไร โอกาสที่เราจะผิดพลาดก็มีความเป็นได้นะครับ แต่ผมมองว่าน้อยกว่าการทำอะไรโดยไม่มีเหตุมีผลที่ดีพอ หรือไม่เหมาะสมกับตัวเรา ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนตั้งใจที่จะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานดี หรือ Growth Stock แต่ปรากฏว่ามีหุ้นที่เราถืออยู่ประกาศผลการดำเนินงานออกมาไม่ดีตามคาด ประกอบกับราคาหุ้นปรับตัวลงต่ำกว่า “Cut Off Price” เราก็ควรตัดสินใจขายหุ้นออก เพื่อ “Cut Loss” ด้วยเหตุผลง่ายๆเลยคือหุ้นตัวนี้ไม่เหมาะกับ (ความต้องการ) เราและมีโอกาสทำให้เราเสียหายมากกว่าที่ควรจะเป็น
แม้ว่าฉันจะรักเธอแต่เราเข้ากันไม่ได้ และคงไปด้วยกันไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับตอนซื้อว่าเราคาดหวังอะไร